ข้อแนะนำในการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
ข้อแนะนำในการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
- ตรวจสอบสายไฟและเต้าเสียบของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งก่อนการ
ใช้งานว่าชำรุดหรือไม่ หากพบว่าชำรุดต้องรีบซ่อมแซมหรือแก้ไข อย่างไรก็ตามอย่าแก้ไขไฟฟ้าเองโดยไม่มีความรู้ความชำนาญเรื่องไฟฟ้าเพียงพอ นอกจากนี้ยังควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าให้ถูกวิธี เช่น ไม่ใช้สายไฟฟ้าเสียบแทนเต้ารับ ไม่ถอยดเต้ารับโดยจับที่สายไฟฟ้า เป็นต้น และก่อนจะเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องดูให้แน่ใจว่าเครื่องปิดสวิตช์อยู่ เมื่อเลิกใช้งานต้องปิดสวิตช์ก่อนถอดปลั๊กเช่นกัน
- ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบริเวณชื้นแฉะหรือฝนสาดถึง อย่าแตะต้องอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ฟ้าขณะที่ตัวเปียก นอกจากนี้ไม่ควรติดตั้งเต้ารับบริเวณที่ต่ำเกินไป ที่น้ำอาจท่วมถึง หรือหากจำเป็นต้องติดตั้งที่ระดับต่ำต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้น้ำเข้า อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้นอคอาคาร ควรเป็นชนิดกันน้ำได้ ในการเดินสายไฟชั่วคราวไปใช้งานภายนอกอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องเป็นชนิดกันน้ำและทนแสงแดดได้ วงจรไฟฟ้าหรือเต้ารับนั้นต้องมีการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว
- ไม่ใช้เต้ารับตัวเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่อง พร้อมกัน เนื่องจากสายไฟฟ้าที่ต่อลงเต้ารับและตัวเต้ารับเอง จะรับกระแสมากจนเกินพิกัด ทำให้เต้ารับมีความร้อนสูงจนเกิดลุกไหม้ได้ หากต้องการใช้ไฟฟ้าในคราวเดียวกันหลาย ๆ อย่าง ควรจะแยกเสียบเต้ารับจะมีความปลอดภัยมากกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก เช่น หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า เตาไฟฟ้า ควรใช้เป็นเต้ารับเดี่ยว หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมเต้ารับกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเปลือกหุ้มภายนอกทำด้วยโลหะทุกชนิด เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น ต้องติดตั้งสายดิน
- อย่าวางอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความร้อนไว้ใกล้วัสดุติดไฟ เช่น วางโคมไฟไว้ใกล้ผ้าม่าน อย่านำสิ่งของวางบนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอย่าใช้ผ้าคลุมหรือตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในที่อับอากาศ เพราะจะทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ชำรุดง่าย และกินไฟมาก และอาจเกิดเพลิงไหม้ได้ อย่าใช้สายไฟลอดใต้เสื่อหรือพรหม หรือปล่อยให้ของหนักบีบทับสายไฟ เพราะอาจทำให้ฉนวนแตกชำรุด
- หมั่นทำความสะอาดและบำรุงรักษาพัดลมให้ใช้งานได้ดี เพราะพัดลมที่มีคุณภาพต่ำหากเปิดทิ้งไว้นาน ๆ มอเตอร์จะร้อนแล้วเกิดไฟไหม้ได้
- อย่าใช้ลวดทำราวตากผ้าขึงผ่านหรือพาดสายไฟฟ้า
- อย่าใช้บันไดโลหะในการซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยไม่สวมรองเท้ายางหรือรองเท้านิรภัยสำหรับงานไฟฟ้า
- ติดตั้งเสาอากาศทีวีห่างจากสายไฟไม่น้อยกว่า 3 เมตร หรือในระยะที่ล้มแล้วไม่โดนสายไฟ
- อย่าใช้น้ำมันไวไฟล้างเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ยังเสียบปลั๊กอยู่
- ห้ามเปิดหรือปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อมีการรั่วไหลของก๊าซหุงต้มภายในบ้าน
- เมื่อไฟฟ้าดับ ให้ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่เปิดค้างอยู่ทันที รวมถึงถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น เช่น ตู้เย็น หรือเครื่องปรับอากาศ และเปิดซ้ำหลังจากนั้นอย่างน้อย 3 นาที
- เมื่อท่านพบสายไฟฟ้าขาดห้อยลงมา หรือขาดตกอยู่บนพื้น อย่าเข้าไปแตะต้องเป็นอันขาด เพราะสายไฟที่ขาดนั้นอาจจะมีกระแสไฟฟ้าอยู่ และห้ามผู้อื่นเข้าใกล้ด้วย ควรรีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่อยู่ใกล้ทราบโดยเร็ว
- การทำงานก่อสร้างใด ๆ ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งอุปกรณ์ หรือวัสดุก่อสร้างอาจจะสัมผัสกับสายไฟฟ้าแรงสูงได้ขณะทำงาน จะทำให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ ผู้รับเหมาก่อสร้างควรดำเนินการดังนี้ติดต่อสำนักงานการไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อดำเนินการเอาฉนวนมาครอบสายไฟฟ้าแรงสูง แจ้งผู้ปฏิบัติงานให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าใกล้สายแรงสูง
- ฝึกฝนให้รู้จักวิธีแก้ไขและป้องกัน รวมทั้งการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเมื่อมีอุบัติเหตุทางไฟฟ้าเกิดขึ้น
ที่มา
- https://www.pea.co.th/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2/ArtMID/606/ArticleID/861/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2
- http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2507:art20180508-01&catid=49&Itemid=251